Bangpakok Hospital

หลัก 5 ข้อทำอาหารกินเองให้ปลอดภัย ห่างไกลโควิด

15 มิ.ย. 2564



หลัก 5 ข้อทำอาหารกินเองให้ปลอดภัยและห่างไกลโควิด-19

  • ดูแลพื้นที่สภาพแวดล้อมให้สะอาด

สภาพแวดล้อมในที่นี้ เริ่มตั้งแต่พื้นที่ครัวที่ใช้ในการปรุงและจัดเก็บอาหาร อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ และต้องมีการเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด ล้างมือบ่อยขึ้น ขยะจัดเก็บให้มิดชิดและถูกสุขลักษณะมากขึ้น หากทำได้ควรมีการใส่ชุด หมวก ผ้ากันเปื้อน หน้ากาก หรือหลังจากเก็บครัวแล้วก็อาจเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเพิ่ม

  • แยกของดิบและสุกออกจากกันอย่างชัดเจน

ควรจัดแบ่งโซนแยกพื้นที่สำหรับการจัดเตรียมวัตถุดิบระหว่างของสุกและของดิบออกจากกัน ไม่ใช้พื้นที่ปนกัน โดยในที่นี่หมายถึงทั้งพื้นที่การปรุงอาหาร พื้นที่การจัดเก็บ ไม่เก็บรวมกัน เช่น ไม่แช่เนื้อสัตว์ดิบไว้กับแตงกวาหรือต้นหอมผักชีในถังน้ำแข็งเดียวกัน เพราะถึงแม้จะเป็นของดิบเหมือนกัน แต่ก็สามารถนำมากินสดๆ ได้เลย รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็ควรแยกออกเป็น 2 ชุด สำหรับอาหารปรุงสุกและดิบไว้เลย เพื่อให้ถูกสุขลักษณะและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

  • ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง

การจะกำจัดเชื้อ หรือหยุดเชื้อโรคได้ การใช้ความร้อนเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้ไม่ยาก โดยปกติแล้วอุณหภูมิที่สามารถกำจัดเชื้อได้ คือ ต้องสูงกว่า 70 องศาขึ้นไป โดยทั้งนี้จะต้องมั่นใจว่าสุกทั่วถึงกันทั้งหมดทั้งชิ้น ไม่ว่าจะการปรุงให้สุก หรือแม้แต่การอุ่นอาหารที่ทำเตรียมรอไว้ ก็ต้องให้ได้ความร้อน 70 องศาขึ้นไป เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 มีเยื้อหุ้มที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ต่ำ จึงถูกทำลายได้ง่ายด้วยสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อ และความร้อน

  • จัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม

 นอกจากการใช้ความร้อนปรุงอาหารสุก เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสให้ตายแล้ว การดูแลจัดเก็บวัตถุดิบแต่ละชนิดให้เหมาะสมในอุณหภูมิต่างๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่สามารถช่วยป้องกันการปนเปื้อน หรือเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้ เช่น อาหารแช่เย็นต้องเก็บที่ 5 องศา แต่ถ้าต้องการแช่แข็งเพื่อยืดอายุออกไป ก็ต้องเก็บต่ำกว่า -18 องศา หรือแม้แต่วัตถุดิบบางอย่างอาจสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ เช่น พริก ถั่วลิสง แต่ก็ต้องพยายามควบคุมดูแลเรื่องความชื้นให้ดีด้วย เพราะอาจเกิดการขึ้นราได้

  • เลือกใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย มีคุณภาพ

คัดสรรเลือกนำวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ สะอาด ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่หมดอายุมาใช้ในการปรุงอาหาร ทั้งนี้อาจไม่ได้หมายถึงแค่เนื้อสัตว์ ผักสด เครื่องปรุง ฯลฯ แต่หมายถึงวัตถุดิบขั้นพื้นฐานอย่างน้ำเปล่าด้วย ต้องเป็นน้ำสะอาดได้มาตรฐานน้ำดื่ม รวมถึงน้ำที่นำมาชะล้างวัตถุดิบต่างๆ ก็ควรสะอาดด้วยเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล : องค์การอนามัยโลก (WHO)

ด้วยความห่วงใยและใส่ใจจากโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.