Bangpakok Hospital

4 วิธีดูแลตัวเอง ให้ห่างไกลโรคถุงลมโป่งพอง

24 พ.ค. 2565

“โรคถุงลมโป่งพอง” หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่มีปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัว เพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการสะสมมลพิษผ่านการสูดดมเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวได้ ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรทำความเข้าใจ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง

สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองก็คือ การที่เราสูดสารที่เป็นพิษ อาจจะอยู่ในรูปของฝุ่นควันที่มีอานุภาพเล็ก ๆ หรือแก๊ส หรือสารเคมีเข้าไปยังปอด นอกจากนั้นสาเหตุที่เรารู้กันดี คือ การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ยิ่งสูบนานสูบมากก็จะมีโอกาสที่จะเป็นมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่เราสูบเอง หรือได้รับจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากคนในบ้านหรือที่ทำงานด้วย นอกจากบุหรี่ก็จะมีสารที่เป็นพิษอย่างอื่นที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่น มลภาวะในอากาศตามท้องถนน หรือตามโรงงานต่าง ๆ ทีนี้อาจจะสงสัยว่าบางคนเป็นบางคนไม่เป็นทั้ง ๆ ที่สูบบุหรี่เท่ากันหรือว่าทำงานที่เดียวกัน ก็เนื่องจากว่ามีปัจจัยในตัวคนนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องก็คือเรื่องของพันธุกรรม ในบางคนอาจจะมีพันธุกรรมที่ผิดปกติทำให้การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของปอดทำได้น้อยกว่าคนปกติ หรืออาจจะมีความผิดปกติของปอดตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ทำให้ต้นทุนน้อยกว่าคนอื่นก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า

 

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคถุงลมโป่งพอง

  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่
  • แม่ค้าพ่อค้าขายอาหาร
  • ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะตามท้องถนน
  • ผู้ที่ทำงานในโรงงาน หรืออยู่ใกล้โรงงาน

 

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ส่วนใหญ่จะมี 2 แบบ

  • แบบที่ 1 อาการเหนื่อย อาการเหนื่อยก็อาจจะเป็นได้ตั้งแต่เวลาออกแรงทำงานหนักถึงจะมีอาการเหนื่อย จนถ้าเป็นมาก ๆ ขณะพักก็จะมีอาการเหนื่อยได้
  • แบบที่ 2 ก็จะมีเรื่องของไอ ไอจะเป็นลักษณะไอเรื้อรังอาจจะมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีเสมหะก็ปริมาณเพียงเล็กน้อยมักจะเป็นตอนเช้า

ในการวินิจฉัยโรคนี้ เราจะสงสัยคนไข้เป็นถุงลมโป่งพองเมื่อผู้ป่วยมีความเสี่ยง อย่างเช่นสูบบุหรี่หรือรับฝุ่นควันมาเป็นเวลานาน แล้วก็มีอาการเหนื่อยหรือว่าไอเรื้อรัง ซึ่งเราจะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจสมรรถภาพปอด หรือว่าเป่าปอดและพบว่ามีการตีบแคบอุดกั้นของหลอดลม เนื่องจากว่าการตรวจร่างกายอาจไม่พบความผิดปกติ เอกซเรย์ปอดก็อาจไม่พบความผิดปกติเช่นกัน

 

การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การใช้ยารักษา กับการไม่ใช้ยา

  • ส่วนที่ 1 การใช้ยารักษา ยาหลัก คือ ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการคนไข้ ซึ่งเราจะใช้ในรูปของยาพ่นสูดเราจะไม่ใช้ในรูปของยารับประทานเนื่องจากมีผลข้างเคียงมากกว่า และ
  • ส่วนที่ 2 การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แล้วก็การออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ถ้าผู้ป่วยมีออกซิเจนต่ำในร่างกายก็ต้องให้ออกซิเจนระยะยาว

 

            สำหรับวิธีป้องกันโรคนี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพองเกิดจากสารพิษที่เราสูดเข้าไป เพราะฉะนั้นเราต้องงดและหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้

4 วิธีดูแลตัวเอง ให้ห่างไกลโรคถุงลมโป่งพอง

  1. ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกโดยเด็ดขาด
  2. สวมหน้ากาก เมื่ออยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM2.5 ควัน ไอเสียต่าง ๆ
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  4. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
 

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.