Bangpakok Hospital

น้ำกัดเท้า โรคที่มาพร้อมน้ำท่วม

23 ส.ค. 2565


ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องผจญกับภาวะน้ำท่วมและส่งผลกระทบถึงสุขภาพได้แก่ โรคผิวหนัง  เนื่องจากเมื่อเกิดอุทกภัย  กระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก  สารเคมี  รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ให้แพร่กระจายและปะปนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง

โรคน้ำกัดเท้า เป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงที่เกิดน้ำท่วม เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณเท้าที่แช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นที่เท้าอยู่ตลอดเวลา หากปล่อยให้มีการอักเสบอย่างต่อเนื่อง

เชื้อต้นเหตุ

เป็นเชื้อราที่มีลักษณะเป็นเส้นใย สร้างสปอร์และโครงสร้างต่างๆหลายแบบ จัดอยู่ในกลุ่ม dermatophytes มี 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ Trichophyton, Epidermophyton และ Microsporum ซึ่งเป็นเชื้อที่ชอบเคราติน (keratin) หรือสารที่พบได้ที่ผิวหนัง ผม ขน และเล็บ

อาการ

ผิวหนังที่เท้ามีอาการระคายเคือง คัน แดง เปื่อย และหลุดลอก หรือมีกลิ่น

มักเป็นบริเวณซอกนิ้ว จมูกเล็บหรืออาจเป็นทั้งเท้าได้

หากมีการติดเชื้อราแทรกซ้อนจะมีผื่นผิวหนังลอกคันเป็นวง ๆ หรือมีตุ่มน้ำใส หรือเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีอาการปวด บวม แดงร้อน กดเจ็บ หรือมีไข้ได้

สามารถแบ่งระยะและการรักษาภาวะน้ำกัดเท้าตามอาการ ดังต่อไปนี้

ระยะที่เกิดการระคายเคือง

เป็นระยะแรกเมื่อเท้าแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการเท้าเปื่อย คัน แสบ ผิวหนังแดงและลอก ระยะนี้เป็นระยะที่เป็นมาไม่นาน จึงยังไม่มีการติดเชื้อใดๆ

การรักษาจะใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น ไตรแอมซิโนโลนชนิดครีม (triamcinoloe cream), เบตาเมทาโซนชนิดครีม (betamethasone cream) ทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว

ระยะที่ติดเชื้อแบคทีเรีย

เป็นระยะที่มีอาการเป็นผื่นบวมแดงมาก มีหนอง และปวด อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน จนมีรอยแผลเปื่อยที่ผิวหนังซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่แผล

การรักษาในกรณีที่เป็นไม่มาก ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือด่างทับทิม แล้งทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน (povidone iodine) หรือ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว ส่วนในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง มีอาการบวมและปวดมาก หรือในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ชนิดฉีด หรือชนิดรับประทาน เช่น คลอกซาซิลลิน (cloxacillin)

ระยะที่ติดเชื้อรา

ระยะนี้มีความแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรียตรงที่การติดเชื้อรามักเกิดในผู้ที่แช่น้ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานมาก หรือผู้ที่มีนิ้วเท้าชิดหรือเกยกัน อาการคือผิวหนังมีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน ร่วมกับมีประวัติเป็นมานานเกิน 2 สัปดาห์

การรักษาจะใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment), คีโทโคนาโซลชนิดครีม (ketoconazole cream) และ โคลทริมาโซลชนิดครีม (clotrimazoe cream) โดยทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อรามีอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ทา หรือมีการติดเชื้อที่เล็บร่วมด้วย ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ และรับประทานยาต่อไป

จะเห็นได้ว่าการรักษาภาวะน้ำกัดเท้าในระยะแรกนั้น ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแต่อย่างใด ที่สำคัญคือต้องทำความสะอาดด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้งทันทีหลังขึ้นจากน้ำ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ส่วนระยะที่มีการติดเชื้อก็ต้องใช้ยาให้ถูกกับเชื้อตามอาการแสดง และต้องทำความสะอาดด้วยสบู่และเช็ดเท้าและเช็ดให้แห้งทุกครั้งก่อนทายา และในกรณีที่เป็นการติดเชื้อราจะต้องทายาต่อเนื่องไปอีก 2-4 สัปดาห์หลังจากที่รอยโรคหายเป็นปกติแล้ว

ส่วนของยารับประทานต้านเชื้อราซึ่งมีผลข้างเคียงต่อตับจะพิจารณาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อราที่เล็บร่วมด้วย หรือมีการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณอื่นเป็นบริเวณกว้างร่วมด้วย

การป้องกันน้ำกัดเท้า

  • ใส่ถุงเท้าที่ซักสะอาด และแห้ง ในรายที่มีอาการของโรคอยู่ ถ้านำถุงเท้าไปต้ม จะช่วยลดปริมาณเชื้อได้มาก หลีกเลี่ยงการใช้ถุงเท้าที่ทำจากสารบางประเภทที่ทำให้แพ้ เพราะจะเสริมอาการคันมากขึ้น
  • ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดหลังย่ำน้ำ ลุยน้ำ หรือเปียกน้ำ ถุงเท้าที่เปียกสกปรก กรณีที่ไม่สามารถซักตามปรกติได้ทันที ให้ซักด้วยน้ำเปล่าที่สะอาดเอาสิ่งสกปรกที่มากับน้ำออกก่อน บิดให้แห้ง ผึ่งไว้ในที่มีลมโกรก อย่าให้หมักหมม ก่อนมีโอกาสนำไปซักตามปรกติ
  • การทำความสะอาดโดยเฉพาะที่มีแผลบวมแดง มีรอยแตก ให้แช่เท้าในภาชนะที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ แต่ไม่ต้องใช้น้ำยาที่แรงจนแสบร้อน ในการอาบน้ำ ให้ถูบริเวณแผลที่มีสะเก็ดออกด้วยผ้าหยาบที่นุ่ม แล้วเช็ดให้แห้งดีโดยเฉพาะตามซอกนิ้ว เมื่อแห้งแล้วจึงทายา เพื่อให้ยาสามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายเชื้อและเอาคราบต่างๆ รวมทั้งยาที่ทาไว้ครั้งก่อนออกไป ไม่ควรทายาซ้ำๆ แต่เข้าไม่ถึงเชื้อ
  • ไม่ใช้ข้าวของส่วนตัวปนกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า แม้แต่รองเท้าแตะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคนี้อยู่ เพราะสามารถติดต่อกันได้
  • การติดเชื้อจากวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้สาธารณะหรือใช้กับผู้รับบริการ เช่น จากการใช้สระว่ายน้ำ หรือสถานอาบน้ำสาธารณะ ภาชนะใช้แช่เท้า เครื่องมือตัดเล็บ ผ้าเช็ดเท้า พรมเช็ดเท้า ถ้าไม่ได้รับการดูแล รักษาความสะอาด และไม่มีการกำจัดจุลินทรีย์ที่เพียงพอ สิ่งของเหล่านี้ที่มีการใช้ร่วมกัน จึงเป็นแหล่งเก็บเชื้อที่มาจากผู้ที่มีเชื้อรา
  • การเกาตามบริเวณร่างกาย โดยใช้มือ-เล็บที่ไปเกาแผลที่มีเชื้อรามาก่อน อาจทำให้บริเวณใหม่ที่ไปเกาได้เชื้อเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง เป็นการติดเชื้อที่แพร่จากร่างกายตนเองผ่านการเกานั่นเอง
  • การไม่มีน้ำสะอาดหรือมีไม่พอสำหรับการอุปโภค เช่น ทำให้ไม่สามารถล้างสิ่งสกปรกที่มากับน้ำ การไม่มีน้ำสำหรับอาบ ส่งให้สุขลักษณะส่วนบุคลไม่ดี ช่วยส่งเสริมให้เกิดโรคผิวหนังจากรา รวมถึงโรคอื่นอีกหลายชนิด

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.