Bangpakok Hospital

ตัวเลขค่าความดันโลหิตบ่งบอกอะไร?

10 ม.ค. 2566



ความดันปกติ อยู่ที่เท่าไร?

ความดันโลหิต คือ แรงดันภายในหลอดเลือดแดง ที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจ เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ประกอบด้วยเลข 2 ค่า คือ

ค่าสูง เป็นค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure)

ค่าต่ำ เป็นค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure)

ความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งการตรวจวัดความดันในเวลาที่ต่างกันไม่จำเป็นต้องมีค่าเท่ากันเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้นต่างๆ

ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต

ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังนี้

อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ขณะอายุ 18 ปี ความดันโลหิต เท่ากับ 120/70 มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี ความดันโลหิตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 140/90 แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป อาจวัดได้ 120/70 เท่าเดิมก็ได้

เวลา ความดันโลหิตจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ตอนเช้าความดันซิสโตลิก (ความดันตัวบน) อาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ ตอนช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำถึง 100 มม.ปรอท เป็นต้น 

จิตใจและอารมณ์ พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เมื่อรู้สึกเจ็บปวดก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน

เพศ พบว่าเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง

พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบิดาและมารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว สิ่งแวดล้อม ที่เคร่งเครียด ก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท

เชื้อชาติ พบว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว

เกลือ ผู้ที่กินเกลือมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่กินเกลือน้อย

จากการที่ความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงได้ เช่นนี้ ทำให้การวินิจฉัยโรคด้วยตัวผู้ป่วยเองอาจทำได้ลำบาก ผู้ป่วยจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคหรือไม่

ระดับความดัน

1.ระดับเหมาะสม ค่าความดันโลหิต ระหว่างน้อยกว่า 120 / น้อยกว่า 80 มม.ปรอท

2.ระดับปกติ ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 120-129 / 80-84 มม.ปรอท

3.ระดับสูงกว่าปกติ ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 130-139 / 85-89 มม.ปรอท

ระดับความรุนแรงของกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง      

ระดับที่ 1 ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 140-159 / 90-99 มม.ปรอท

ระดับที่ 2 ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 160-179 / 100-109 มม.ปรอท

ระดับที่ 3 ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิต มากกว่า 180 / 110 มม.ปรอท

การวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนอนพัก ควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริงๆ

ที่มาข้อมูล : สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE Official Account :  https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://youtube.com/channel/UCrWTFEyhNwZtPo2JieYZftw

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.