นอนหลับแล้วไม่ตื่น เสี่ยง
นอนหลับแล้วไม่ตื่น เสี่ยง"โรคไหลตาย”
โรคไหลตาย หรือ ภาวะเสียชีวิตฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุขณะหลับ ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน ความน่ากลัวของโรคนี้คือการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อนเลย ส่วนใหญ่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงอายุ 25 - 50 ปี ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือไม่เคยเป็นโรคใด ๆ มาก่อนก็ตาม
ทำความรู้จัก โรคไหลตาย เป็นอย่างไร..!!
เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของการนำเกลือแร่โซเดียมเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอแบบกะทันหัน ส่วนมากจะเกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้หมดสติและเสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งสเหตุหลัก ๆ ที่ส่งผลทำให้มีโอกาสเกิดอาการมากขึ้น ได้แก่
- ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ซึ่งมีผลต่อการเต้นของหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด
- การขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอนมากกว่าปกติ เมื่อหลับแล้วมักเกิดภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิต
- มีภาวะไข้สูง
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การใช้ยานอนหลับเป็นประจำ
อาการที่พบได้มีอะไรบ้าง..!!
- เป็นลมหมดสติ
- อึดอัด หายใจเสียงดัง หายใจลำบาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- แน่นหน้าอก หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอหรือมีภาวะใจสั่น
- หัวใจเต้นเร็วมาก
- แขนขาเกร็ง ชัก
- อาจมีปัสสาวะและอุจจาระราด
- ใบหน้าและริมฝีปากเขียวคล้ำ
- บางรายอาจมีการเสียชีวิตกะทันหัน
ส่วนมากผู้ที่เป็นโรคไหลตายมักจะเสียชีวิตฉับพลันขณะหลับในเวลากลางคืน โดยไม่ทันทราบว่า มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติดังอาการข้างต้น แนะนำให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการผิดปกติดังกล่าว หรือหากมีอาการที่รุนแรงควรรีบตามรถพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ใครบ้างที่เสี่ยง..!!
- มีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตเฉียบพลันก่อนวัยอันควร หรือมีประวัติโรคไหลตายในครอบครัว
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะตั้งแต่กำเนิด
- ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิดบรูกาดา
- ผู้ชายในช่วงวัยทำงานหรือวัยกลางคน
- เชื้อชาติ พบบ่อยในชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การตรวจวินิจฉัยทำอย่างไร..!!
อายุรแพทย์โรคหัวใจหรือแพทย์ผู้ชำนาญด้านไฟฟ้าหัวใจ จะทำการซักประวัติและการตรวจร่างกายเบื้องต้น พร้อมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ่งชี้กลุ่มอาการบรูกาดาหรือไม่ รวมถึงการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมตามแพทย์พิจารณา ดังนี้
- การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อตรวจดูโครงสร้างของหัวใจว่าปกติหรือไม่
- การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจโดยการใส่สายเข้าไปตรวจภายในหัวใจ ในรายที่สงสัยว่ามีอาการบรูกาดา
- การติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว (Holter Monitoring) ตลอด 24 ชม.เป็นการตรวจติดตามภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic testing) เพื่อดูการกลายพันธุ์ในสารพันธุกรรมที่บ่งชี้ความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย หรือหากผู้ที่มีอาการเสียชีวิตไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาตรวจตามประวัติและความเสี่ยง
รักษาได้อย่างไร..!!
- การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) โดยฝังเครื่องไว้บริเวณหน้าอกด้านซ้าย เมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องจะส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจให้กลับมาเต้นเป็นปกติ
- การจี้หัวใจด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Radiofrequency Ablation: RFA) โดยการใส่สายสวนหัวใจเข้าไปแล้วใช้ความร้อนจี้ตรงที่มีปัญหาเพื่อลดโอกาสการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และยังเป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลจากการผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา
- การใช้ยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณา อาจใช้เป็นการรักษาเสริมหลังผู้ป่วยผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแล้ว
ลดเสี่ยงได้อย่างไร..!!
- ลดอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ข้าวเหนียว ของหวาน
- ลดการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
- ลดความเครียดจากการทำงาน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมกระกันหัน
- หลีกเลี่ยงอุณหภูมิ ร่างกายที่สูงกว่า 40 องศา
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ในปัจจุบันโรคไหลตายยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งส่วนมากมักจะเสียชีวิตแบบเฉียบพลันขณะหลับในเวลากลางคืนโดยที่ไม่เคยมีอาการผิดปกติใด ๆ เตือนมาก่อน และคนรอบข้างไม่ทันรู้ตัว ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดก่อนการเกิดโรคไหลตายจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณมีความเสี่ยง มีอาการที่น่าสงสัย หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ รวมไปถึงการรักษาที่เหมาะสม
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สนัฐชา อาภาคัพภะกุล
อายุรแพทย์โรคหัวใจ เฉพาะทางสรีระไฟฟ้าหัวใจ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 3
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3
Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3
LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh
YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc
TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0